พิธีสืบชะตาปลา คือ
เป็นประเพณีพื้นบ้านที่ทำในโอกาสต่างๆ เพื่อต่อดวงชะตาหรือต่ออายุให้ยืนยาว มุ่งหวังให้มีชีวิตอยู่ดีมีสุข ปราศจาก โรคภัยไข้เจ็บ และเพื่อความเป็นสิริมงคล ประเพณีสืบชะตาปลา มีรากฐานมาจากพิธีสืบชะตาบ้านเมือง และชะตาคน
พิธีสืบชะตาปลา ทำเพื่อ
- เป็นการทำบุญให้กับสัตว์น้ำที่ชาวบ้านได้จับมาใช้ประโยชน์ เพื่อการดำรงชีวิตและเป็นอาหารให้กับคน ในชุมชนตลอดทั้งปี
- สร้างขวัญและกำลังใจให้ชาวบ้าน
- ส่งเสริมความร่วมมือร่วมใจและก่อเกิดความสามัคคีให้กับคนในชุมชน
- เสริมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำและการฟื้นฟูสัตว์น้ำให้คงอยู่ตลอดไป
การกำหนดวันของพิธีสืบชะตาปลา จะจัดขึ้นก่อนการประกาศของกรมประมงช่วงปิดฤดูน้ำแดง (ฤดูน้ำแดงเป็นช่วงที่ฝนตกอย่างต่อเนื่องจนระดับน้ำในแหล่งน้ำมีระดับสูง ฝนที่ตกนี้ได้ชำระล้างหน้าและพัดพาตะกอนธาตุอาหารต่างๆ ลงสู่แหล่งน้ำทำให้น้ำมีลักษณะขุ่นเป็นสีแดง ซึ่งจะเป็นช่วงฝนตกชุก การที่น้ำมีธาตุอาหารมาก เป็นปัจจัยกระตุ้นให้สัตว์น้ำมีการขยายพันธุ์และวางไข่ จึงไม่ควรจับสัตว์น้ำในช่วงฤดูน้ำแดง)
การจัดพิธีสืบชะตาปลาเริ่มด้วยพิธีสงฆ์ในช่วงเช้าโดยการนิมนต์ พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นจะมีพิธีปล่อยพันธุ์ปลา โดยคณะ ผู้ร่วมงานจะช่วยกันปล่อยปลาสู่แหล่งน้ำ
ประเพณีทำบุญสืบชะตาปลาที่เขื่อนน้ำอูน จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในปที่ผ่านมาได้จัดขึ้นเมื่อ วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนน้ำอูน บริเวณบ้านไทยเจริญ จ.สกลนคร โดยความร่วมมือ ของคนในชุมชนในการจัดกิจกรรม และได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบล หน่วยงาน ภาครัฐ เช่นเดียวกับกรมประมงที่ได้จัดหาพันธุ์ปลา สำหรับปล่อยลงแหล่งน้ำซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์สัตว์น้ำ
ประเพณีทำบุญสืบชะตาปลาเป็นกิจกรรมที่ชาวชุมชนร่วมกันจัดขึ้นเพื่อสืบทอดประเพณีที่ดีเป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น ที่มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำสร้างจิตสำนึกการดูแลรักษาการไม่จับสัตว์น้ำช่วงฤดูวางไข่ อันจะทำให้สัตว์น้ำไม่ได้แพร่ พันธุ์ต่อไป ทรัพยากรสัตว์น้ำก็จะลดลงไม่มีใช้ประโยชน์ต่อไป ในอนาคต และที่สำคัญกิจกรรมนี้จะมีส่วนสร้างเสริมจิตสำนึกที่ดีให้กลุ่มคนรุ่นหลังเด็กและเยาวชน ได้เรียนรู้และช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์การใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าให้เกิดความยั่งยืนต่อไป