การบริหารจัดการทรัพยากรประมงโดยแนวทางเชิงระบบนิเวศ (Ecosystem Approach to Fisheries Management: EAFM)
การบริหารจัดการทรัพยากรประมงโดยแนวทางเชิงระบบนิเวศ คือ การนำแนวทางเชิงระบบนิเวศมาประยุกต์ใช้กับการประมง เพื่อทำให้เกิดการได้ประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืนจากระบบประมง โดยเน้นในเรื่องการหาสมดุลระหว่างความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และความอยู่ดีมีสุขของมนุษย์ด้วยหลักธรรมาภิบาล
ประโยชน์สำคัญของการบริหารจัดการทรัพยากรประมง โดยแนวทางเชิงระบบนิเวศ
- เกิดการพิจารณาความเชื่อมโยงระหว่างระบบนิเวศ และการประมงที่กว้างขึ้น
- เกิดการมีส่วนร่วมในการวางแผน เพื่อการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- เอื้อต่อการเจรจา แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ และสร้างสมดุลความต้องการของมนุษย์ ให้สอดคล้องกับระบบนิเวศ
- ช่วยให้เกิดสมดุลของผลผลิตสัตว์น้ำ กับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ
- ช่วยให้เกิดการแก้ไขและลดความขัดแย้งระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
การจัดการประสบความสำเร็จ วัดผลอย่างไร
การบริหารจัดการทรัพยากรประมงโดยแนวทางเชิงระบบนิเวศ มีระบบการติดตามและการประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ โดยแต่ละแผนการจัดการ ต้องมีตัวชี้วัดที่เหมาะสม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ จะแสดงผลให้ทราบได้ว่าการจัดการนั้นๆมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
การบริหารจัดการทรัพยากรประมงโดยแนวทางเชิงระบบนิเวศเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทยหรือไม่
ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการเติมเต็มและบูรณาการหลายแนวทางการจัดการที่มีอยู่ในการจัดการประมงทะเล และทรัพยากรชายฝั่ง เช่น การจัดการประมงที่มีอยู่แล้ว แผนการจัดการทะเลเชิงพื้นที่ การจัดการชายฝั่งแบบบูรณาการ และการจัดการแบบมีส่วนร่วม เข้ามาไว้ด้วยกัน
การบริหารจัดการทรัพยากรประมงโดยแนวทางเชิงระบบนิเวศ มาใช้เต็มรูปแบบที่ไหนบ้างในประเทศไทย
- ทดลองนำมาปรับใช้ที่ บ้านไหนหนัง อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่
- กำลังขยายพื้นที่การจัดการให้ครอบคลุมทั้งจังหวัดกระบี่