ข้อมูลทั่วไป

  • “ลอบ” มีลักษณะเป็นรูปทรงต่างๆ เช่นรูปกล่องสี่เหลี่ยม หรือทรงกระบอกผ่าครึ่ง โครงทำจากวัสดุประเภทไม้ซี่ กิ่งไม้ หรือเหล็กเส้น หุ้มด้วยเนื้ออวนหรือลวดกรงไก่ ช่องทางที่ให้สัตว์น้ำเข้า เรียกว่า งา เป็นช่องรูปวงกลม รูปวงรี ช่องเปิดแนวตั้ง หรือช่องเปิดแนวนอน แล้วแต่ชนิดสัตว์น้ำเป้าหมาย
  • “หมึกหอม” สามารถจับได้หลายวิธี เช่น อวนครอบหมึกและเบ็ดตกหมึก การใช้ลอบก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ชาวประมงนิยมใช้กันแพร่หลายทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยมีทั้งลอบแบบพับได้ และพับไม่ได้
  • สัตว์น้ำหลักที่จับได้จากลอบชนิดนี้ ได้แก่ หมึกหอม และหมึกกระดองลายเสือ
  • ปี พ.ศ. 2560 ปริมาณการจับหมึกหอมรวมทั้งหมด 7,580 ตัน โดยมีปริมาณการจับที่ได้จากลอบ 1,831 ตัน
  • ลอบจะมีทางเข้า หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “งา” จำนวน 1 ช่อง ยื่นเข้าไปในลอบประมาณ 1 ใน 3 ของความยาวลอบ
  • โครงลอบจะหุ้มด้วยเนื้ออวนโปลีเอทธีลีน หรือเนื้ออวนไนล่อน
  • นิยมใช้วัสดุล่อ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจับให้ดียิ่งขึ้น ได้แก่ ทางมะพร้าวปิดคลุมด้านนอกของลอบ และจะเลือกใช้ไข่หมึก ถุงหิ้วพลาสติกสีขาว หรือโฟมตัดเป็นชิ้นใส่ไว้ภายในลอบ เพื่อลวงให้หมึกเข้าไปวางไข่ เนื่องจากเข้าใจว่ามีหมึกตัวอื่นเข้าไปไข่ไว้ก่อนแล้ว ซึ่งมีการศึกษาพบว่า หมึกจะวางไข่ในตำแหน่งที่ใกล้กับวัสดุล่อ มากกว่าบริเวณอื่นภายในลอบ