ในการทำประมง มีความจำเป็น และสำคัญที่เรา (หรือชาวประมง) ต้องทำความเข้าใจและรู้ถึงพฤติกรรมของปลา ซึ่งมีพฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งเร้าแตกต่างกันออกไป ในที่นี้ก็คือ เครื่องมือประมง (Fishing gear) หนี่งในพฤติกรรมของปลาที่เรามองเห็นเด่นชัดกว่าอย่างอื่นในเบื้องต้นนี้ก็คือ การว่ายน้ำของปลา (Swimming performance of fish) ที่เราได้ทราบข้างต้นแล้ว ซึ่งประกอบไปด้วยความเร็ว (Swimming speed) และความทนทาน (Endurance) จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจ เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการจับสัตว์น้ำเป้าหมาย หรือเลือกที่จะปล่อยสัตว์น้ำที่ไม่ใช่เป้าหมาย นอกจากนี้ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการช่วยจับสัตว์น้ำ ก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน

ส่วนการทำประมงอวนล้อม จะเป็นการประลองกันระหว่างความเร็วในการว่ายน้ำของปลาเป้าหมายกับความเร็วของเรือ และอัตราการจมตัวของอวนล้อม โดยมีซั้ง (Fish Aggregating Devices-FADs) เป็นตัวช่วยควบคุมฝูงปลา ในการทำประมงอวนลอย ความเร็วในการว่ายน้ำของปลาจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลไกการติดตาอวนของปลา (ตัวปลาและเส้นรอบวงของตาอวน–ขนาดตาอวน) ทั้งสองเครื่องมือดังกล่าวนี้ มีกลไกในการจับสัตว์น้ำที่เกี่ยวข้องกับการว่ายน้ำของปลาทั้งสิ้น

ในขณะที่การทำประมงอวนลากเป็นตัวอย่างในการทดสอบความความเร็วและความทนทานในการว่ายน้ำของปลาได้เป็นอย่างดี (ภาพที่ 5) โดยมีอวนลากเป็นฝ่ายไล่ต้อนฝูงปลาเป้าหมาย ในขณะเริ่มต้นของกระบวนการจับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือประมงอวนลาก อวนลากจะทำหน้าที่ไล่ต้อน (Repulsion) ปลาและสัตว์น้ำให้ว่ายมารวมกันที่ด้านหน้าปากอวนในเส้นทางที่อวนลากเคลื่อนผ่าน ที่ตำแหน่งด้านหน้าสุดของอวนลาก ปลาและสัตว์น้ำจะถูกกระตุ้นด้วยแผ่นตะเฆ่ (Otter boards) และสายกวาด (Sweep lines) ทั้งสองข้าง ซึ่งจะฟุ้งไปด้วยโคลนหรือทราย (Sand cloud) ที่แผ่นตะเฆ่ครูดผ่านไปบนพื้นทะเล ปลาและสัตว์น้ำสามารถรับรู้ได้ถึงการเคลื่อนเข้าหาของอวนลากด้วยตาและเสียง เสียงเครื่องยนต์เรืออาจจะกระตุ้นให้ปลารับรู้ถึงการเคลื่อนที่ของวัตถุได้ก่อนที่ปลาจะมองเห็นทั้งในระยะไกล และใกล้เข้ามา เนื่องจากปลาจะมีส่วนของเส้นข้างตัว (Lateral line) ที่สามารถทำหน้าที่รับรู้แรงสะเทือนของน้ำในระยะกระชั้นชิดในกรณีที่น้ำมีความขุ่นจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา ทรายหรือโคลนที่ฟุ้งกระจายจากการกระทำของแผ่นตะเฆ่สามารถทำหน้าที่กางกั้น (Barrier) ไม่ให้ฝูงปลาและสัตว์น้ำเปลี่ยนทิศทางการว่ายน้ำออกไปจากบริเวณปากอวนที่อวนเคลื่อนผ่าน แม้ว่าทรายหรือโคลนนั้นจะไม่สามารถเป็นอันตรายกับสัตว์น้ำได้ก็ตาม ปีกอวนทำหน้าที่เป็นตัวกางกั้น และจำกัดบริเวณการว่ายน้ำของปลาและสัตว์น้ำให้อยู่ระหว่างปีกอวนทั้งสองข้างตลอดเวลาที่อวนเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยเช่นกัน และไล่ต้อนปลาและสัตว์น้ำให้เข้าสู่บริเวณปากอวน ถึงแม้ว่าตาอวนของปีกอวนจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวปลาหรือสัตว์น้ำก็ตาม แต่ปลาหรือสัตว์น้ำก็จะไม่ว่ายผ่านหรือลอดออกไป เมื่อปลาและสัตว์น้ำถูกไล่ต้อนและถูกจับอยู่ในอวนลากเรียบร้อยแล้ว แต่ยังคงพยายามรักษาระดับความเร็วการว่ายน้ำให้ไปพร้อมๆกับอวนลาก และระยะห่างระหว่างตัวปลากับผนังอวน โดยไม่ว่ายลอดหนีออกไปตามตาอวน (แม้ว่าจะถ่างและตึงในบางส่วนจนเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสในบางส่วน) เมื่อปลาและสัตว์น้ำเหล่านั้นว่ายน้ำจนอ่อนล้า (ความเร็วในการว่ายน้ำเลยจุดความเร็วยืดเยื้อ-Prolonged speeds มาแล้ว) ในที่สุดก็จะหมดกำลังในการว่ายน้ำ (เลยความเร็วระดับฉับพลันไปแล้ว) และถูกต้อนให้ไปรวมตัวที่ก้นถุงอวน (Cod-end) ในที่สุด ซึ่งก้นถุงอวนจะมีตาอวนขนาดเล็กกว่าปลาและสัตว์น้ำ ทำหน้าที่กักขัง (Trapping) สัตว์น้ำเหล่านั้นเอาไว้ ในกระบวนการจับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือประมงอวนลากนี้ จะไม่มีการดึงดูด หรือล่อ (Attraction) สัตว์น้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง

ส่วนของการทำประมงที่ใช้แสงไฟล่อ หรือการใช้เหยื่อล่อ เช่น การทำประมงเบ็ด และลอบจะเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้วิธีการดึงดูดหรือล่อ เพื่อเพิ่มปริมาณและความหนาแน่นของสัตว์น้ำเข้ามาสู่กระบวนการจับ